ขึ้นชื่อว่าบัตรเครดิต แน่นอนว่ามักจะมาพร้อมกับความสะดวกสบายในการใช้จ่าย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แต่ละธนาคารเสนอให้กับผู้ถือบัตร แต่หากไม่ควบคุมการใช้จ่ายและวินัยทางการเงินให้ดีก็มีสิทธิกลายเป็นหนี้บัตรเครดิตได้
ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้บัตรเครดิตหัวโต เป็นเพราะไม่ได้คำนวณการใช้จ่ายของตัวเองก่อน เมื่อเกิดหนี้แล้วก็ไม่รู้จักวิธีการจัดการ แล้วเลือกวิธีการหนีไม่ยอมชำระหนี้ จนทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มพูดขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นหนี้ก้อนโตที่ทั้งเพิ่มภาระและทำลายเครดิตของตัวเอง
วิธีที่ดีที่สุดที่จะไม่ตกบ่วงหนี้บัตรเครดิต ก็คือการใช้บัตรเครดิตไม่ให้เกิดหนี้ตั้งแต่แรกนั่นเอง ซึ่งโดยพื้นฐานที่เราเคยพูดไปในบทความ “ดอกเบี้ยบัตรเครดิต” รู้จักไว้ก่อนเป็นหนี้สะสม การไม่ให้เกิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ซึ่งเป็นต้นเหตุของหนี้บัตรเครดิตที่บานปลายก็คือ
- ชำระเงินค่าบัตรให้ครบ และตรงเวลา
- ไม่กดเงินสดฉุกเฉินออกจากบัตรเครดิต
นอกจากวิธีเบื้องต้นด้านบนแล้ว วันนี้ AlphaCard จะพามาดูกันเพิ่มเติมว่ายังมีอะไรที่เราสามารถทำได้อีกบ้าง เพื่อที่จะเป็นคนที่ใช้บัตรเครดิตได้คุ้มค่าโดยที่ไม่ตกบ่วงหนี้บัตรเครดิต
8 เคล็ดลับ ใช้บัตรเครดิตไม่ให้เป็นหนี้
1. สำรวจรายรับรายจ่าย และรายละเอียดบัตรเครดิตของตัวเอง
ก่อนอื่นเลยให้สำรวจก่อนว่าเรามีรายรับกี่ทาง เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ถ้าเป็นเงินเดือนจะเข้าทุกวันไหนของเดือน หรือถ้ามีธุรกิจส่วนตัวก็ประมาณออกมาว่าเรามีรายรับประมาณเท่าไหร่ แล้วมีรายจ่ายประจำในแต่ละเดือนเท่าไหร่ ครบกำหนดชำระวันที่เท่าไหร่บ้าง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่าบ้าน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าผ่อนรถ ฯลฯ ลิสต์ออกมาให้เห็นภาพก่อน
ต่อมาก็สำรวจบัตรเครดิตของตัวเอง ว่าเรามีบัตรกี่ใบ แต่ละใบวงเงินเท่าไหร่ ครบกำหนดชำระเมื่อไหร่ มีสิทธิพิเศษอะไรที่โดดเด่น แล้วเราใช้ใบไหนบ่อยที่สุด เพราะอะไร วิธีนี้จะทำให้เราเห็นว่าบัตรเครดิตที่เรามีอยู่และพฤติกรรมการใช้จ่ายของเรานั้นสอดคล้องกันหรือเปล่า มีอะไรที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ไหม
เช่น ถ้าตอนนี้เราจ่ายค่าน้ำค่าไฟด้วยเงินสด อาจจะมาลองดูว่าถ้าเราจ่ายผ่านบัตรเครดิตบางใบ อาจได้เป็นเงินคืนหรือแต้มสะสม และยังสามารถสะสมเป็นยอดใช้จ่ายเอาไว้ยกเว้นค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตได้ด้วย หรือบางทีเราอาจมีบัตรเครดิตอยู่ 4-5 ใบ แต่พอสำรวจตัวเองดู กลับพบว่าเรามักใช้บัตรเครดิตที่มีอยู่แค่ 1-2 ใบ แล้วใบที่เหลือก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม กลายเป็นเสียเงินฟรีๆ ทุกปี
2. ยกเลิกบัตรเครดิตใบที่ไม่ได้ใช้
จากข้อบน หากพบว่าเรามีบัตรเครดิตมากเกินไปและก็ไม่ได้ใช้ การยกเลิกบัตรก็เป็นอีกช่องทางที่นอกจากจะช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมรายปีได้แล้ว ยังช่วยลดความสับสนในเรื่องต่างๆ เช่น จำไม่ได้ว่าจ่ายค่าไฟด้วยบัตรใบไหน หรือใบนี้ชำระค่าบัตรเดือนนี้ไปหรือยัง
ถ้าพบว่าเคยมีปัญหาความสับสนเหล่านี้ ยกเลิกบัตรให้เหลือน้อยใบเป็นดีที่สุด ถ้าทำได้จะยกเลิกให้เหลือใบเดียวที่ใช้บ่อยที่สุดและให้สิทธิพิเศษคุ้มค่าที่สุดเลยก็ได้เช่นกัน สามารถตรวจสอบโปรโมชั่นและสิทธิพิเศษจากบัตรเครดิตต่างๆ และค้นหาบัตรเครดิตที่เหมาะกับคุณได้ด้วยเครื่องมือเปรียบเทียบบัตรเครดิตของ AlphaCard ที่นี่เลย

3. สร้างการแจ้งเตือนก่อนถึงวันกำหนดชำระค่าบัตร หรือตั้งค่าชำระค่าบัตรจากบัญชีธนาคารอัตโนมัติ
บางคนมีปัญหาว่าโดนเรียกเก็บดอกเบี้ยบัตรเครดิต เพราะลืมไปชำระค่าบัตรภายในวันที่กำหนด ซึ่งการชำระตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญมากๆ นอกจากจะทำให้เราไม่ต้องถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยแล้ว ยังทำให้เรามีเครดิตที่ดีด้วย
วิธีป้องกันการลืมจ่ายค่าบัตรก็คือ หาวิธีที่จะแจ้งเตือนได้ชัดๆ อาจจะเป็นการเขียนเอาไว้ในสมุดบันทึกที่ใช้บ่อยๆ ในหน้าที่จะเห็นง่ายๆ หรือตั้งค่าให้สมาร์ทโฟนแจ้งเตือน หรือถ้าทำได้จะตั้งค่าให้บัญชีธนาคารของเราตัดเงินไปชำระค่าบัตรเครดิตอัตโนมัติเมื่อถึงวันที่กำหนดเลยก็ได้ โดยเรามีหน้าที่แค่โอนเงินเข้าบัญชีนั้นให้เพียงพอต่อการชำระยอดในแต่ละเดือน
4. กำหนดยอดเงินที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้ในแต่ละเดือน
เช่นกันกับรายรับรายจ่าย ที่เราสามารถกำหนดงบประมาณได้ว่าอยากใช้เท่าไหร่ในแต่ละเดือน บัตรเครดิตก็ทำแบบนั้นได้เหมือนกัน แม้ว่าวงเงินที่เราได้มาจะมากกว่าที่เราใช้ในแต่ละเดือน ก็ให้กำหนดงบประมาณสำหรับตัวเองไว้อีกชั้นว่าจะใช้ไม่เกิน … บาท เท่านั้น ส่วนวงเงินที่ได้เกินมาก็ให้คิดว่าเป็นเหมือนวงเงินเผื่อฉุกเฉิน ที่เราอาจจะจำเป็นต้องใช้ในบางโอกาส แต่จะไม่ใช้จนครบวงเงินทุกเดือน
เป็นเพราะไม่ได้คำนวณการใช้จ่ายของตัวเองก่อน"
5. มีบัญชีแยกสำหรับชำระค่าบัตรเครดิต รูดบัตรไปเท่าไหร่ โอนเข้าบัญชี้นี้เท่านั้น
สำหรับคนที่มีบัตรเครดิตแล้วติดจะใช้จ่ายเพลิน จนบางทีก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะตอนรูดบัตรก็ไม่ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองใช้เงินไปเท่าไหร่ในเดือนนี้ วิธีก็คือเปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้ ซึ่งทุกครั้งที่รูดจ่ายผ่านบัตรเครดิต ก็ให้โอนเงินเข้าบัญชีนี้ ใช้เท่าไหร่โอนไปเท่านั้น จะทำให้เรารู้ว่าตอนนี้เราใช้ไปเท่าไหร่ และยังเหลือไว้ใช้จ่ายในเดือนนั้นได้อีกเท่าไหร่ ที่สำคัญคือพอถึงวันครบกำหนดชำระ เราก็สามารถเอาเงินในบัญชีที่เปิดไว้โดยเฉพาะไปจ่ายค่าบัตรเครดิตได้พอดี
6. เลือกใช้บัตรที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละรายการใช้จ่าย
คิดง่ายๆ ว่าถ้าลดค่าใช้จ่ายได้ ก็เท่ากับเราลดจำนวนที่ต้องชำระค่าบัตรในแต่ละเดือนไปได้ การลดยอดค่าใช้จ่ายก็คือการลดความเสี่ยงในการเป็นหนี้บัตรเพราะจ่ายไม่ครบหรือจ่ายไม่ทัน เปรียบเทียบดูว่าบัตรแต่ละใบที่เราถืออยู่นั้น ใบไหนมีโปรโมชั่นพิเศษอะไรบ้าง ถ้ากินข้าวใช้ใบไหนดี หรือถ้าจ่ายค่ารถไฟฟ้าใบไหนจะคุ้มกว่า หรือถ้าไม่อยากมีบัตรหลายใบก็เลือกใบที่คิดว่าเหมาะที่สุดสำหรับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ลองหาบัตรเครดิตที่เหมาะสมกับคุณได้ด้วยเครื่องมือเปรียบเทียบบัตรเครดิตของ AlphaCard คลิกที่นี่

7. เลือกผ่อนสินค้าที่ละรายการ ไม่ผ่อนซ้อนกันหลายชิ้น
การผ่อนสินค้าทีละหลายรายการ หนึ่ง อาจสร้างความสับสนให้ผู้ถือบัตรเครดิต และอาจใช้จ่ายเกินตัวโดยไม่รู้ตัว สอง อาจสร้างนิสัยติดการผ่อนสินค้า ซึ่งอาจนำมาซึ่งการใช้จ่ายเกินตัวได้ เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม หากรู้ตัวว่ายังมีรายการผ่อนสินค้าอยู่ ก็อย่าเพิ่งเพิ่มสินค้าเงินผ่อนอื่นๆ มาก่อนจะดีกว่า
8. คอยตรวจสอบยอดใช้จ่ายในแต่ละเดือนอยู่เสมอ
วิธีนี้ทั้งง่ายและได้ผลที่สุด เพราะเดี๋ยวนี้บัตรเครดิตแต่ละที่ก็มีแอปพลิเคชันเป็นของตัวเองให้เราตรวจสอบยอดปัจจุบันได้ง่ายดาย การคอยตรวจสอบยอดค่าใช้จ่ายที่เรารูดบัตรไปของเดือนปัจจุบันว่ารูดไปเท่าไหร่แล้ว มีเงินพอจ่ายไหม ยังมีอะไรที่จำเป็นต้องรูดอีกหรือเปล่า ทำให้เราตื่นตัวกับยอดเงินอยู่เสมอ และเป็นการย้ำเตือนตัวเองว่าต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังนั่นเอง
ถ้าทำได้ตามเคล็ดลับการรูดบัตรเครดิตไม่ให้เป็นหนี้ 8 ข้อข้างบนนี้ รับรองว่าคุณจะเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้เอ็นจอยกับสิทธิประโยชน์ดีๆ จากบัตรเครดิตแบบคุ้มค่าที่สุด แถมยังไม่เกิดหนี้บัตรเครดิตให้ต้องปวดหัวอีกด้วย